วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

 “กางเกง เช่นเดียวกับกางเกงเครื่องแบบลูกเสือสามัญ”



ระยะนี้กำลังปรับปรุงหลักสูตร และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบของลูกเสืออากาศอยู่ครับ เลยหยิบข้อบังคับฯ และ กฎกระทรวง มาอ่านบ่อยหน่อย ตามประสาคนรู้น้อยต้องอ่านให้มากๆ มาเห็นกฎกระทรวงเรื่องหนึ่งเข้า เก่าแล้วครับ ออกมาห้าสิบกว่าปีแล้ว ผมไม่ทราบว่าได้มีการแก้ไขสาระตรงนี้หรือยัง เท่าที่ดูกฎกระทรวงฉบับที่๓ ก็เพิ่มเติมเรื่องอื่นไม่ได้แก้ไขตรงที่ผมจะว่าให้ฟังครับ ท่านใดทราบว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้วรบกวนช่วยบอกด้วยนะครับ
เรื่องที่ว่านั้นอยู่ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ ภาค ๑ หมวด ๑ ข้อ ๒ เครื่องแบบลูกเสือสามัญ ข้อวงเล็บงองูครับ ท่านว่าไว้ดังนี้
“(ง) กางเกงสีกากี ขาสั้นเหนือเข่าประมาณ ๕ เซนติเมตร ส่วนกว้างของขากางเกงเมื่อยืนตรงห่างจากขาตั้งแต่ ๘ - ๑๒ เซนติเมตร ปลายขาพับเข้ากว้าง ๕ เซนติเมตร ผ่าตรงส่วนหน้า ใช้ดุมขนาดย่อมขัดซ่อนไว้ข้างใน มีกระเป๋าตามแนวตะเข็บข้างละ ๑ กระเป๋า และมีหูร้อยเข็มขัดยาวไม่เกิน ๖ เซนติเมตร กว้าง ๑ เซนติเมตร”
เห็นอะไรไหมครับ?
กฎกระทรวงกำหนดไว้ว่ากางเกงของลูกเสือสามัญ ต้องเป็นสีกากี ขาสั้น ผ่าตรงส่วนหน้า และ ‘ใช้ดุมขนาดย่อมขัดซ่อนไว้ข้างใน’ครับ
‘ดุม’ คือ ‘กระดุม’ครับ ใช้กระดุมน่ะไม่แปลกหรอกครับ สมัยผมยังเป็นทหารอยู่ กางเกงหลวงแจกให้พลทหารน่ะ ใช้กระดุมทั้งนั้น (เดี๋ยวนี้ยังไงไม่ทราบ) เหตุผลคือมันซ่อมง่ายครับ เวลาฝึกหรือไปราชการสนามกระดุมขาดหลุดนี่สามารถเย็บซ่อมได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าใช้ซิป เวลาซิปแตกขึ้นมา ซ่อมเองไม่ได้นะครับ ต้องปล่อยหวอไปอย่างนั้น แล้วเวลาไปสนามนี่บางทีก็ไม่ได้นุ่งอะไรไว้ข้างใน (ไม่มีเวลาเปลี่ยนครับนุ่งซ้ำหลายวันเดี๋ยวคัน) ดีไม่ดีข้าศึกเห็นอาวุธลับหมด
บอกแล้วว่าใช้กระดุมนั้นไม่แปลก แต่เมื่อ๕๐ปีก่อนโน้น ซิปก็เริ่มมีใช้กันแล้ว ทำไมท่านไม่กำหนดทางเลือกเอาไว้ก็ไม่รู้
กฎกระทรวงนี่จัดเป็นกฎหมายประเภทหนึ่งนะครับ ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ใครจะมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยพละการหาได้ไม่
ดังนั้น ถ้าไม่มีการยกเลิกก็ต้องถือปฏิบัติกันไปตามนั้นครับ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าได้ยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงข้อ (ง)กันไปแล้วหรือยัง ถ้ายัง ลูกเสือสามัญทุกคนต้องนุ่งกางเกง ‘ใช้ดุมขนาดย่อมขัดซ่อนไว้ข้างใน’ นะครับ ไม่เช่นนั้นผิดกฎกระทรวงครับ
เรื่องไม่จบแค่นี้ครับ
เพราะในกฎกระทรวงยังกำหนดเครื่องแบบของลูกเสือประเภทอื่นๆ ตลอดไปจนกระทั่งเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ อีกด้วย
โดยท่านอ้างอิงเครื่องแบบลูกเสือสามัญเป็นหลัก เพื่อความสะดวกและประหยัดในการเขียน การพิมพ์ ท่านจึงใช้ข้อความอย่างนี้ครับ
‘ข้อ ๕ เครื่องแบบลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ประกอบด้วย
(ง) กางเกง เช่นเดียวกับกางเกงเครื่องแบบลูกเสือสามัญ
ข้อ ๘ เครื่องแบบลูกเสือวิสามัญ ประกอบด้วย
(ง) กางเกง เช่นเดียวกับกางเกงเครื่องแบบลูกเสือสามัญ
ข้อ ๑๑ เครื่องแบบผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ เว้นแต่นายหมู่ลูกเสือและรองนายหมู่ลูกเสือ ประกอบด้วย
(ง) กางเกง เช่นเดียวกับกางเกงเครื่องแบบลูกเสือสามัญ’
เอาละสิครับ กางเกงเครื่องแบบลูกเสือสามัญน่ะ ‘ใช้ดุมขนาดย่อมขัดซ่อนไว้ข้างใน’ นะครับ นี่มิผิดกฎกระทรวงกันไปทั้งประเทศแล้วหรือ
มีการแก้ไขความในข้อ๑๑นี้อยู่ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๐ ครับ โดยให้ยกเลิกความในข้อ ๑๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๑๐) ออกและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๑ เครื่องแบบผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ เว้นแต่นายหมู่ลูกเสือ และรองนายหมู่ลูกเสือ ประกอบด้วย
(ง) กางเกง เช่นเดียวกับกางเกงเครื่องแบบลูกเสือสามัญ หรือกางเกงเครื่องแบบปกติกากีคอพับ ของข้าราชการ ตามกฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน..”
อ้าว! กางเกงขาสั้นยังคงเป็นแบบเดิมนี่ครับ มีเพิ่มกางเกงขายาวเข้ามา ส่วนกฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน ท่านให้ใช้ซิปได้หรือเปล่า ท่านผู้ใดอยากรู้ก็ไปค้นหาดูเถอะครับ
ย้ำครับ กฎกระทรวงเป็นกฎหมายนะครับ จะใช้คำว่าอนุโลมไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงรู้อยู่แล้วว่ามีกฎหมายกำหนดอยู่ แต่จะขอไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และจะแอบเติมคำว่า ‘หรือซิป’ เข้าไปก็ไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำโดยพละการข้ามหัวผู้ออกกฎกระทรวงคือท่านรัฐมนตรีว่าการไป
เปิดประเด็นชี้ให้เห็น พอขำๆครับ ไม่ได้ตั้งใจจริงจังอะไร ถ้ามีการแก้ไขกฎกระทรวงแล้วให้ใช้ซิปได้ ผมก็ขออภัย ถ้ายังไม่ได้แก้ คราวหน้าก็ชงให้ท่านรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงแก้ไขเสียนะครับ ผมไม่อยากทำผิด เพราะกางเกงของผมก็ไม่ได้ ‘ใช้ดุมขนาดย่อมขัดซ่อนไว้ข้างใน’ เหมือนกัน

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

 ลูกเสือไทยกับลูกเสืออังกฤษกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

ถูกต้องครับ ลูกเสือไทยกับลูกเสืออังกฤษกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
ลูกเสืออังกฤษเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมอังกฤษ โดยเริ่มแก้ไขกันที่เยาวชนของชาติ ด้วยวิธีการแบบลูกเสือ


ส่วนลูกเสือไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือขึ้นเพื่อสนับสนุนความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนกำลังกึ่งทหารอย่าง “เสือป่า”
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการกำเนิดกิจการลูกเสือจึงต่างกัน


เมื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน วิธีการเพื่อให้ไปถึงวัตถุประสงค์นั้นจึงต่างกันไปด้วย
ลูกเสืออังกฤษ เน้นให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นหมู่เล็กๆ ฝึกให้เด็กตกลงใจร่วมกันในการประชุมลูกเสือในหมู่เดียวกัน และประชุมนายหมู่ร่วมกับหมู่ลูกเสืออื่นๆ เพื่อวางแผนและแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน ระบบลูกเสืออังกฤษฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าออกความคิดเห็น ขณะเดียวกันต้องยอมรับฟังความเห็นต่างของผู้อื่น


กระบวนการเหล่านี้ปลูกฝังให้เยาวชนเคารพกฎกติกาแบบประชาธิปไตย สมทบด้วยระบบเกียรติศักดิ์ตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ซึ่งลูกเสือต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั้งสิบข้อ ทำให้ผลผลิตคือเยาวชนของอังกฤษกลายเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ มีเกียรติ ได้รับการยอมรับจากสังคม และแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไปเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ สังคมก็จะมีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพตามไปด้วย
ในขณะที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ต่างกันออกไป เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศส อันเกือบทำให้ประเทศสยามต้องสูญเสียเอกราชนั้น ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระชนม์ ๑๒ พรรษา ได้ทรงรับทราบสถานการณ์บ้านเมือง และความทุกข์โทมนัสของพระราชบิดาอย่างแน่นอน

ต่อมาอีกไม่กี่เดือนเมื่อพระชนม์ยังไม่เต็ม ๑๓ พรรษา สมเด็จพระราชบิดาก็ทรงส่งให้ไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ


ด้วยกุศโลบายรุกทางการเมืองนี้เองทำให้พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช หลายพระองค์แยกย้ายไปศึกษาและสนิทสนมคุ้นเคยกับพระราชวงศ์สำคัญต่างๆเกือบทุกประเทศในยุโรป นอกจากนี้เกือบทุกพระองค์รวมทั้งล้นเกล้าฯรัชกาลที่๖ เข้าศึกษาวิชาการทหารในยุโรปและวิทยาการสำคัญอื่นๆอีกหลากหลาย เพื่อ “ให้รู้เท่าทันเขา” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓


เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯในฐานะที่ทรงเคยศึกษาและปฏิบัติหน้าที่นายทหารแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ ย่อมทรงเข้าพระทัยดีว่าภัยคุกคามด้านกำลังทหารย่อมหนีไม่พ้นรูปแบบเดิมเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งกองเรือปืนของฝรั่งเศสแล่นฝ่าแนวต้านทานเข้ามาจนถึงใจกลางพระนครอย่างแน่นอน และสยามก็คงไม่มีศักยภาพที่จะรบตามแบบต่อสู้กับชาติตะวันตกได้


สิ่งที่พระองค์น่าจะทรงดำริก็คือการรบนอกแบบ โดยใช้กำลังกึ่งทหารที่เรียกว่า “เสือป่า” ที่ทรงฝึกหัดขึ้นเพื่อทำสงครามกองโจรหากต้องร่นถอยออกไปทางนครปฐม บ้านโป่ง ราชบุรี ดังที่มีการซ้อมรบในพื้นที่ดังกล่าวอยู่หลายครั้ง และใช้กำลังเยาวชนที่ฝึกขึ้นเป็น “ลูกเสือ” เข้าช่วยเหลือสนับสนุนการรบ เช่นที่ บี.พี. เคยใช้ยุวชนทหารทำสำเร็จมาแล้วที่มาเฟคิง


การฝึกอบรมลูกเสือจึงเป็นการปลูกฝังความรักชาติ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และ จงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าการบำเพ็ญประโยชน์ เน้นที่การเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่ง ยิ่งกว่าการแสดงความคิดเห็น การแสดงเหตุผล
เราจึงพบว่า แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ กองทัพก็ยังถือว่าการลูกเสือ คือเครื่องมือของกองทัพในด้านกำลังสำรอง การฝึกอบรมลูกเสือจึงกลายเป็นการส่งลูกเสือเข้าค่ายฝึกของทหาร เพื่อฝึกลูกเสือให้มีทักษะทางทหาร ยิ่งกว่าการอยู่ค่ายพักแรมในแบบฉบับของลูกเสือจริงๆ
การส่งเสริมให้เด็กมี 'จิตวิญญาณลูกเสือ-Scouting Spirit' กลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

 "เราจะทำอย่างไรกันดี" ในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหลักสูตรลูกเสือเริ่มหนาหู ตั้งแต่ระดับเด็กๆจนถึงท่านผู้ทรงเกียรติในสภาที่เสนอให้เอาลูกเสือออกจากหลักสูตร ผมว่าเราเองก็น่าจะต้องกลับมา ทบทวนตัวเองด้วยเหมือนกัน บางประเด็นที่มีผู้กล่าวถึงกิจการลูกเสือในแง่ร้าย อาจฟังได้ว่าผู้พูดยังไม่เข้าใจกระบวนการลูกเสือดีพอ แต่บางประเด็นเราก็น่าจะต้องพิจารณาว่าเป็นจริงอย่างที่กล่าวหาหรือไม่? อะไรเป็นเหตุให้เขากล่าวเช่นนั่น? หลายวันก่อนผมเปิดประเด็นเรื่องนี้เอาไว้ในเพจลูกเสือต่างๆ ได้รับข้อคิดเห็นดีๆจากพี่น้องหลายท่านที่ต้องการให้ลูกเสือไทยก้าวไปสู่วิถึทางแบบลูกเสืออย่างแท้จริง ปัญหาต่างๆหมักหมมกันมานานครับ ว่ากันไปแล้วก็กลายเป็นงูกินหาง ทำไปทำมาก็เลยไม่รู้จะเริ่มแก้ปัญหากันตรงไหน ผมคงไม่พูดถึงปัญหาในที่นี้ละครับ เรื่องมันยาว ไว้ค่อยๆหยิบยกทีละเรื่องมาเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดีกว่า เราแสดงความคิดเห็นด้วยความจริงใจแบบลูกเสือ มองกันในแง่สร้างสรรค์ แม้จะไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะผลักดันอะไรได้แต่ก็น่าจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้างนะครับชี้ไปตรงไหนก็มีปัญหา แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?อย่าเพิ่งไปมองเรื่องใหญ่ๆเลยครับ บางทีมันก็ใหญ่เกินกำลังของเรา บางทีกว่าจะผลักดันได้ก็ใช้เวลากันอีกนานพี่น้องลองเริ่มกันอย่างนี้ก่อนดีไหมครับ เริ่มจากกองลูกเสือของเรานี่แหละ ลองคิดว่าลูกเสือตามหลักสูตร ก็เหมือนเด็กเรียนพลศึกษาในคาบเรียนปกติ รู้กติกาพอดูกีฬาเป็น เล่นกีฬาพอได้บ้างงูๆปลาๆ แต่มีเด็กอีกพวกที่ชอบกีฬา พวกนี้เป็นนักกีฬาโรงเรียน เลิกเรียนต่องซ้อมกีฬา เก็บตัวแข่งขันเอาจริงเอาจัง เหมือนลูกเสือแหละครับ ตามหลักสูตรก็ว่ากันไปเท่าที่ทำได้ แต่เด็กที่สนใจลูกเสือจริงๆ พวกนี้ก็เหมือนทีมโรงเรียนครับ เราสามารถนำกระบวนการลูกเสืออย่างแท้จริงมาฝึกอบรมได้เต็มที่ ส่วนจะทำอย่างไรจึงจะเป็นไปตามกระบวนการลูกเสือที่แท้จริงนั้น วันหน้าเรามาคุยกันต่อเพื่อขยายผลครับวันนี้เริ่มต้นจากตรงนี้ดีไหมครับหลายท่านคงได้อ่านหนังสือ'การลูกเสือสำหรับเด็กชาย' มาแล้ว หากยัง ผมแนะนำให้ไปหาอ่านครับ เล่มละ๒๒๐บาท นี่คือหัวใจของการลูกเสือที่ผู้รักกืจการลูกเสือต้องอ่านนอกจากอ่านเองแล้ว ให้เด็กในกองลูกเสือของท่านทุกคนได้มีโอกาสอ่านด้วย ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าทุกคนวิธีการคงแล้วแต่ท่านจะบริหารครับ อาจจัดหาไว้ประจำหมู่ หมู่ละเล่มผลัดกันอ่าน หรือ หาไว้ในห้องสมุด หรือ ถ่ายเอกสาร ฯลฯเริ่มจากตรงนี้ จากจุดเล็กๆ แต่จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างลูกเสือที่เป็นลูกเสือจริงๆ ลูกเสือที่มี 'Scouting Spirit' และจะยั่งยืนตลอดไปเริ่มหยดน้ำดีลงไปเป็นหยดเล็กๆครับ ไม่ช้าจะเห็นผลเชื่อผมเถอะ ผมกับลูกหมู่ของผมอ่านกันมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว






วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 "คอนวอย"

คำว่า คอนวอย (Convoy) หมายถึง ขบวนยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถหรือเรือ หรืออาจใช้กับยานพาหนะที่ทำหน้าที่คุ้มกันขบวนเดินทางก็ได้ ถ้าเป็นกริยาอาจหมายถึง คุ้มกันการเดินทาง แต่ส่วนใหญ่เมื่อใช้คำว่า ‘คอนวอย’ก็จะทำให้นึกถึงภาพขบวนยานพาหนะ วิ่งกันมาเป็นแถว


เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อเรื่อง ‘CONVOY’ สร้างโดย แซม เพคกินพาห์ ผู้กำกับหนังบู๊จอมโหด มี คริส คริสทอฟเฟอร์สัน นักร้องเพลงคันทรี่ แสดงนำคู่กับ อาลี แมคกรอว์ นางเอกเรื่อง ‘Love Story’ อันโด่งดังสมัยโน้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับขบวนรถบรรทุกสมกับชื่อเรื่อง ภาพของพระเอกนางเอกหนังเรื่องนี้ติดอยู่ที่บังโคลนสิบล้อบ้านเราอยู่พักใหญ่ๆ


การทำหน้าที่คุ้มกัน หรือเดินทางเป็นเพื่อนนี้ เมื่อเป็นเรื่องของบุคคล มักจะใช้คำว่า เอสคอร์ท(Escort) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า (Bodyguard) ครับ
มีบางช่วงเวลาของชีวิตที่ความจำเป็นในหน้าที่การงานทำให้ห่างเหินวงการลูกเสือไป เมื่อหวนกลับมาอีกครั้งก็พบว่ามีอะไรเปลี่ยนไปจากที่เคยรู้หลายอย่าง
เรื่องคำว่า ‘คอนวอย’ นี่ก็คำหนึ่งละครับ
เมื่อตอนได้ยินครั้งแรก มีผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งถามว่า
“ใครจะเป็นคอนวอยให้ประธานแคมป์ไฟ”
ผมงงครับ แต่ตอนนี้รู้ประสาแล้ว คอนวอยก็คอนวอยครับ
ผมแค่มาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น


ขอบคุณภาพจากงานโสตทัศนศึกษาโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม (ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหาแต่อย่างใด)

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เริ่มมีลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

 

      ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ โดยในปีนั้นลูกเสือออกจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาเป็นลูกเสือต้องเป็นด้วยความสมัครใจ และคณะลูกเสือแห่งชาติกำลังนำหลักสูตรลูกเสือแผนใหม่จากอังกฤษมาทดลองใช้

         เมษายน ๒๕๐๖ เปิดอบรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เป็นรุ่นแรกที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ โดยมีกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่เป็นกองนำร่อง ๘ กอง จากโรงเรียนรัฐบาล ๔ กอง และ โรงเรียนราษฎร์(สมัยนั้นเรียกอย่างนี้) ๔ กอง ได้แก่

           โรงเรียนรัฐบาล

         ๑.โรงเรียนวัดราชาธิวาส

         ๒.โรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์

         ๓.โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

         ๔.โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร

            โรงเรียนราษฎร์

         ๑.โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง(ชื่อสมัยนั้น)

         ๒.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

         ๓.โรงเรียนอำนวยศิลป์

         ๔.โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี

        ลูกเสือไทยเริ่มรู้จัก ระบบหมู่ มีชื่อหมู่ ธงหมู่ การเปิดประชุมกอง การประชุมนายหมู่ ฯลฯใน พ.ศ.นั้น องค์กรสำคัญในการพัฒนาวิชาการลูกเสือขณะนั้นคือ สโมสรลูกเสือกรุงเทพฯซึ่งมี คุณครูเพทาย อมาตยกุล เป็นนายกสโมสร มีที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง ได้เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆของลูกเสือ ซึ่งรวมถึงหลักสูตรวิชาพิเศษด้วย

       พ.ศ.๒๕๐๗ คณาจารย์ลูกเสือขณะนั้นเพิ่งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร Wood Badge สามัญรุ่นใหญ่รุ่นแรกกันมาใหม่ๆจึงเข้มแข็งกระตือรือร้นกันมากและเมื่อสโมสรลูกเสือกรุงเทพฯเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรลูกเสือ ก็จะมีบุคลากรจากโรงเรียนต่างๆมาเป็นกำลังสำคัญหลายท่าน เช่น อาจารย์สุรัฐ เพศยนาวิน , อาจารย์บัญญัติ ไม่อ่อนมือ จากโรงเรียนสันติราษฎร์ฯ อาจารย์สมชาย เมธานาวิน จากโรงเรียนไตรรัตน์ศึกษา อาจารย์สมชาย ญาณประสาท จากโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ฯลฯ

      พ.ศ.๒๕๐๗ เปิดอบรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่รุ่นที่ ๒ ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธเช่นกัน คราวนี้มีกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ใหม่ๆเพิ่มขึ้นรวมเป็น ๑๖ โรงเรียน อาทิเช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดสังเวช โรงเรียนนันทนศึกษา เป็นต้น

      หลังจากนั้นในปีต่อมาไม่มีการฝึกอบรมอีก แต่มีการตั้งกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ในโรงเรียนต่างๆเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ จนกระทั่งเมื่อมีข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติฯ พ.ศ.๒๕๐๙ จึงมีการจดทะเบียนกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขึ้น โดยมีโรงเรียนเทพศิรินทร์จดทะเบียนเป็นชื่อแรก.


พ.ศ.๒๕๐๗ : การอบรมลูกเสือบรรเทาสาธารณภัย(ลูกเสือดับเพลิง)ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิษฐ์ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่รุ่นแรกของประเทศไทยจากหลายโรงเรียนอยู่ในภาพนี้ ขอบคุณเจ้าของภาพ ล.ญ.เดชา ลาภเอกอุดม (ยืนขวาสุด) จากกองลูกเสือราชาธิวาส ต่อมาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย


พ.ศ.๒๕๐๘ : กองลูกเสือราชาธิวาส ในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่๕ ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ 


วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การแสดงสัญญลักษณ์ของลูกเสือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง


การแสดงสัญญลักษณ์ของลูกเสือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง



การชูสามนิ้วของลูกเสือนั้น คือ รหัสแสดงความเป็นพวกเดียวกันในระหว่างลูกเสือทั่วโลก มีความหมายถึงคำปฏิญาณ ๓ ข้อของลูกเสือ อันได้แก่         

     ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
             ข้อ ๒ ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ            
             ข้อ ๓ ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ


กฎของลูกเสือมีอีก ๑๐ ข้อ ซึ่งจะเป็นกรอบกำหนดบุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ ระหว่างลูกเสือกับสังคมและสภาพแวดล้อม

คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือนี้ใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๑(ค.ศ.๑๙๐๘) เป็นแนวทางเดียวกันทั้งโลก อาจมีความแตกต่างกันบ้างในการใช้ถ้อยคำ ความหมายและจำนวนข้อของกฎในบางประเทศ แต่ทั้งคำปฏิญาณและกฎนี้คือหลักการสำคัญที่ลูกเสือจะต้องยึดถือ และนำไปปฏิบัติ

การทำกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีการแสดงสัญลักษณ์การชูสามนิ้วไม่ว่าจะมีที่มาจากแหล่งใดก็ตาม จึงมีผลทำให้เกิดความสับสนกับการแสดงรหัสของลูกเสือ ด้วยความแตกต่างของวัตถุประสงค์ และนัยยะสำคัญของความหมาย

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมชูสามนิ้วอาจไม่ได้คำนึงถึงข้อนี้ แต่โปรดทราบด้วยว่าขบวนการลูกเสือนั้นกำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นขบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง


และคุณกำลังนำการเมืองเข้ามาปะปนกับขบวนการลูกเสือ จะโดยไม่ตั้งใจ หรือ เห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญก็ตาม






วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ผู้ใหญ่กับเด็ก

ผู้ใหญ่กับเด็ก

ลูกเสือสำรองแอฟริกาใต้ กำลังฝึกทักษะการผูกเงื่อนเชือก ผู้ใหญ่ในภาพ คือ Nkwenkwe Nkomo, หัวหน้าลูกเสือประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa's Chief Scout) ในปี พ.ศ.๒๕๔๓
ผมชอบสองรูปนี้ครับ ดูอบอุ่น สนุกสนาน ไม่ถือเนื้อถือตัว ผู้ใหญ่กับเด็กที่เป็นลูกเสือ ต่างก็ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ผู้บังคับบัญชาลูกเสือควรเป็นแบบนี้ครับ มีความเป็นเด็กอยู่ในตัวเอง เสมือนเป็นพี่ชาย(หรือพี่สาว)ของน้องๆ เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้เด็กๆได้ยึดถือและเจริญรอยตาม

สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ควรมี :-
(๑) มีจิตใจของเด็กอยู่ในตัวและต้องสามารถวางตัวได้ถูกต้อง โดยมีเด็กๆของเขาเป็นความสำคัญลำดับแรก
(๒) ตระหนักถึงความต้องการ, ทัศนะและความปรารถนาของชีวิตในวัยต่างๆกัน
(๓) สนใจปฏิบัติต่อเด็กเป็นบุคคล มากกว่าต่อเด็กทั้งกลุ่ม
(๔) ส่งเสริมสำนึกของความร่วมมือระหว่างเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อให้ได้ผลสำเร็จที่ดีที่สุด
ท่านผู้บังคับบัญชาลูกเสือครับ ถามตัวเองนะครับว่า ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆแล้วหรือไม่ ทบทวนดูนะครับว่า กฎทั้ง๑๐ข้อนั้น ท่านปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ลูกเสือ/เนตรนารีของท่านได้นำแนวทางของกฎทั้ง๑๐ข้อไปปฏิบัติจริงจังแค่ไหน หรือได้แต่ท่องจำเท่านั้น
ปัญหาในวงการลูกเสือไทยมีเยอะครับ เราคนเดียวแก้ไขไม่ไหวหรอก แต่ถ้าจะเริ่มต้นพัฒนา เริ่มจากตัวเราเองก่อน ดีไหมครับ?